บริการ 10 คู่สายอัตโนมัติ

042 870 000 บริการ 10 คู่สายอัตโนมัติ

บทความเพื่อสุขภาพ

โรคท้องผูก (Constipation)

5/13/19, 7:27 AM

เป็นอาการถ่ายอุจจาระน้อยกว่าปกติหรือถ่ายอุจจาระไม่ออกเป็นเวลานาน ซึ่งพฤติกรรมและความถี่ในการถ่ายอุจจาระปกติของแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกัน แต่ในทางการแพทย์มักหมายถึงการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์

อาการของท้องผูก

  • ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือน้อยกว่าปกติที่เคยเป็น
  • อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง เป็นเม็ดเล็ก ๆ
  • รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่ออก หรือถ่ายได้ไม่สุด
  • ถ่ายอุจจาระออกได้ยาก ต้องใช้แรงเบ่งมากหรือใช้มือช่วยล้วง อาจมีอาการเจ็บขณะถ่ายอุจจาระร่วมด้วย
  • ท้องอืด ปวดท้อง หรือปวดเกร็งบริเวณหน้าท้อง

ผู้ที่มีอาการในข้างต้น 2-3 ข้อ เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 เดือน อาการท้องผูกธรรมดาหรือที่เรียกว่าท้องผูกฉับพลันอาจพัฒนากลายเป็นท้องผูกเรื้อรังที่มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น หากพบความผิดปกติในการถ่ายอุจจาระเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยหาสาเหตุไม่ได้ แม้พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตแล้ว แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย น้ำหนักลดลง ถ่ายมีเลือดปน ควรไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่อาจซ่อนความผิดปกติไว้

สาเหตุของอาการท้องผูก

ท้องผูกเป็นอาการที่มักเกิดขึ้นได้บ่อยเมื่อลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้าในระหว่างการย่อยอาหาร ทำให้ไม่สามารถกำจัดอุจจาระออกจากระบบทางเดินอาหารได้อย่างปกติ จึงเกิดการตกค้างในลำไส้ใหญ่เป็นเวลานานจนมีการดูดน้ำในอุจจาระกลับ อุจจาระจึงมีลักษณะแห้ง แข็ง และมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ถ่ายออกได้ลำบาก ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการท้องผูกอาจมาได้จากหลายสาเหตุ เช่น

การใช้ยา การรับประทานยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการท้องผูกขึ้นได้ เช่น ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของสารประกอบอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ ยารักษาอาการซึมเศร้า ยาระงับอาการทางจิต ยารักษาอาการชัก อาหารเสริมกลุ่มแคลเซียมและธาตุเหล็ก ยาระงับปวดชนิดโอปิออยด์ ยาขับปัสสาวะ

สภาวะทางร่างกายที่ส่งผลต่อฮอร์โมน ฮอร์โมนช่วยให้ของเหลวและการทำงานภายในร่างกายเกิดความสมดุล ดังนั้นการเกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารหรือสภาวะบางอย่างที่ทำให้ฮอร์โมนเกิดความผิดปกติขึ้น ซึ่งอาจทำให้ฮอร์โมนเสียสมดุลในการทำงาน สามารถนำไปสู่อาการท้องผูกได้ เช่น โรคเบาหวาน การตั้งครรภ์ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ โรคลำไส้แปรปรวน

โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ความผิดปกติจากโรคทางด้านระบบประสาทสามารถส่งผลต่อการบีบตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จึงอาจส่งผลให้เกิดการตกค้างของอุจจาระภายในระบบทางเดินอาหารและอาจนำไปสู่อาการท้องผูกได้ เช่น เส้นประสาทถูกทำลายจากโรคเบาหวาน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอมเอส โรคพาร์กินสัน เส้นประสาทไขสันหลังบาดเจ็บ โรคหลอดเลือดในสมอง

การอุดตันภายในลำไส้ สภาวะบางอย่างที่ก่อให้เกิดการอุดตันภายในลำไส้ใหญ่หรือบริเวณทวารหนักอาจทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวออกจากระบบทางเดินอาหารได้ลำบากหรือติดค้างอยู่ภายในลำไส้ เช่น แผลปริขอบทวารหนัก ลำไส้อุดตัน มะเร็งลำไส้ใหญ่ ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน

นอกจากนี้ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างหรือปัจจัยบางประการอาจเอื้อต่อการเกิดอาการท้องผูกได้ง่ายมากขึ้น เช่น

  • การอั้นอุจจาระ
  • รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย
  • มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย
  • น้ำหนักตัวมากหรือน้อยเกินไป
  • ดื่มน้ำน้อย
  • ความเครียดหรือความกดดัน
  • ปัญหาทางด้านจิตใจ
  • มีภาวะขาดน้ำและเกลือแร่
  • อยู่ในวัยผู้สูงอายุ

การป้องกันอาการท้องผูก

อาการท้องผูกป้องกันได้โดยดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอและป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ ยกเว้นในบางกรณีที่การดื่มน้ำมีผลต่อสภาวะของร่างกายหรือโรคที่เป็นในขณะนั้น รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และน้ำอัดลมมากเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายขาดน้ำมากขึ้น

การรับประทานอาหารควรเลือกอาหารประเภทที่มีกากใยมากขึ้น (ประมาณ 30 กรัมต่อวัน) โดยเฉพาะผักและผลไม้ โดยค่อย ๆ เพิ่มปริมาณการรับประทานขึ้นทีละน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องอืด และในบางรายอาจเกิดปัญหาท้องผูกจากการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนม จึงควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานในปริมาณน้อย

นอกจากนี้ ควรมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอประมาณ 30 นาทีต่อวัน หรือพยายามเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันบ่อย ๆ จะเป็นการช่วยบริหารกล้ามเนื้อให้ทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงปรับพฤติกรรมการขับถ่ายให้ตรงเวลา ไม่อั้นอุจจาระเมื่อเกิดอาการปวดโดยไม่จำเป็น และหากพบอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์ ซึ่งจะป้องกันไม่ให้อาการท้องผูกกลายเป็นอาการเรื้อรังหรือรุนแรงมากขึ้น

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

อายุรกรรม

นัดหมายแพทย์

ติดต่อสอบถาม


แพ็กเกจคลอดคุณภาพ