บริการ 10 คู่สายอัตโนมัติ

042 870 000 บริการ 10 คู่สายอัตโนมัติ

บทความเพื่อสุขภาพ

ฝีดาษวานร

6/11/22, 4:15 AM

โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งแสดงอาการคล้ายลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคฝีดาษที่เคยพบเห็นในอดีต แต่อาการของโรครุนแรงน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ภายหลังการกำจัดโรคฝีดาษได้สำเร็จในปี 2523 และการยุติการฉีดวัคซีนโรคฝีดาษ โรคฝีดาษวานรได้อุบัติขึ้นเป็นเชื้อไวรัส orthopoxvirus ที่สำคัญที่สุดสำหรับภาคสาธารณสุข ส่วนใหญ่โรคฝีดาษวานรพบในแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก พบได้บ่อยบริเวณใกล้พื้นที่ป่าฝนเขตร้อนและเริ่มแพร่กระจายในเขตเมืองเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ สัตว์ที่เป็นพาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะและสัตว์ตระกูลลิง

การแพร่เชื้อ การแพร่เชื้อของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนอาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสกับเลือด ของเหลวในร่างกาย รอยโรคผิวหนังหรือเยื่อเมือกของสัตว์ติดเชื้อโดยตรง ในทวีปแอฟริกา มีหลักฐานที่ยืนยันการตรวจพบการติดเชื้อไวรัสฝีดาษวานรในสัตว์หลายชนิด ได้แก่ กระรอกเชือก, กระรอกต้นไม้, หนูแกมเบียที่มีถุงหน้าท้อง, หนูดอร์เมาซ์, สัตว์ตระกูลลิงหลายชนิด และสัตว์ชนิดอื่น แหล่งรังโรคในธรรมชาติของไวรัสฝีดาษวานรยังไม่ถูกระบุแน่ชัด แต่สัตว์ฟันแทะมีความเป็นไปได้มากที่สุด การรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่สุกพอและผลิตภัณฑ์อื่นจากสัตว์ติดเชื้อเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เป็นไปได้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณหรือใกล้พื้นที่ป่าอาจมีโอกาสทางอ้อมหรือโอกาสเสี่ยงน้อยที่จะสัมผัสสัตว์ติดเชื้อ การแพร่เชื้อจากคนสู่คนเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจหรือรอยโรคผิวหนังของผู้ติดเชื้อ หรือการสัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนไม่นาน ปกติการแพร่เชื้อผ่านละอองน้ำจากการหายใจเกิดขึ้นได้เมื่อใบหน้าอยู่ใกล้ชิดกัน ซึ่งเป็นเหตุให้บุคลากรสาธารณสุข คนในบ้านเดียวกัน และผู้สัมผัสใกล้ชิดคนอื่นของผู้ติดเชื้อมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ห่วงโซ่การแพร่เชื้อในชุมชนที่ยาวที่สุดที่ถูกบันทึกไว้ได้เพิ่มขึ้นและสถิติการติดเชื้อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งสูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 6 รายเป็น 9 ราย ตัวเลขนี้อาจแสดงถึงภูมิคุ้มกันในทุกชุมชนที่ลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากยุติการฉีดวัคซีนโรคฝีดาษ นอกจากนี้ การแพร่เชื้ออาจเกิดขึ้นผ่านรกจากแม่สู่ทารกในครรภ์ (ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคฝีดาษวานรตั้งแต่กำเนิด) หรือเกิดขึ้นระหว่างการสัมผัสใกล้ชิดขณะคลอดและหลังคลอด ถึงแม้ว่าการสัมผัสใกล้ชิดทางกายเป็นปัจจัยเสี่ยงการแพร่เชื้อที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ปัจจุบันยังไม่แน่ชัดว่าโรคฝีดาษวานรสามารถแพร่เชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ และจำเป็นต้องทำการวิจัยเพื่อเข้าใจความเสี่ยงนี้มากขึ้น

อาการแสดงและอาการ โดยปกติ ระยะเวลาฟักตัว (ช่วงเวลาตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงเริ่มแสดงอาการ) ของโรคฝีดาษวานรมีตั้งแต่ 6 ถึง 13 วัน แต่ก็อาจอยู่ที่ 5-21 วัน การติดเชื้อแบ่งเป็น 2 ระยะดังนี้ • ระยะก่อนออกผื่น (invasion period) (กินเวลา 0-5 วัน) อาการประกอบด้วยมีไข้, ปวดศีรษะมาก, ต่อมน้ำเหลืองโต, ปวดหลัง, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอ่อนเพลียมาก ภาวะต่อมน้ำเหลืองโตเป็นลักษณะเด่นของโรคฝีดาษวานร เปรียบเทียบกับโรคอื่นที่อาจแสดงอาการแรกเริ่มคล้ายกัน (อีสุกอีใส หัด และฝีดาษ) • ระยะออกผื่น (skin eruption period) ปกติเริ่มภายใน 1-3 วันหลังจากเริ่มมีไข้ ตุ่มผื่นมักขึ้นหนาแน่นบนใบหน้าและแขนขามากกว่าลำตัว โดยเฉพาะใบหน้า (ร้อยละ 95) และฝ่ามือฝ่าเท้า (ร้อยละ 75) นอกจากนี้ เยื่อบุช่องปาก (ร้อยละ 70) อวัยวะเพศ (ร้อยละ 30) เยื่อบุตา (ร้อยละ 20) และกระจกตาก็ได้รับผลกระทบด้วย ผื่นจะมีลักษณะเปลี่ยนแปลงตามลำดับดังนี้ เริ่มจากผื่นราบ (รอยโรคที่มีฐานแบนราบ) เปลี่ยนเป็นผื่นนูน (รอยโรคที่เป็นตุ่มแข็งนูนเล็กน้อย), ถุงน้ำ (รอยโรคที่มีของเหลวใสบรรจุอยู่ภายใน), ตุ่มหนอง (รอยโรคที่มีของเหลวสีเหลืองบรรจุอยู่ภายใน) และแผ่นสะเก็ดที่แห้งและลอกออกเอง รอยโรคมีจำนวนแตกต่างกัน ตั้งแต่ไม่กี่รอยถึงหลายพันรอย ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง รอยโรคอาจขยายรวมกันเป็นปื้นใหญ่จนกระทั่งผิวหนังลอกออกเป็นแผ่นใหญ่ ๆ ปกติโรคฝีดาษวานรเป็นโรคที่หายได้เอง ระยะแสดงอาการกินเวลาตั้งแต่ 2 ถึง 4 สัปดาห์ อาการป่วยรุนแรงเกิดขึ้นในเด็กมากกว่า ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณไวรัสที่ได้รับ สถานะสุขภาพของผู้ป่วย และลักษณะของภาวะแทรกซ้อน ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลของโรคเลวร้ายมากขึ้น ถึงแม้ว่าการฉีดวัคซีนโรคฝีดาษมีคุณสมบัติป้องกันโรคฝีดาษในอดีต ปัจจุบันคนที่มีอายุน้อยกว่า 40-50 ปี (ขึ้นอยู่กับประเทศ) อาจเสี่ยงติดเชื้อไวรัสฝีดาษวานรง่ายขึ้นเนื่องจากการยุติการรณรงค์ฉีดวัคซีนโรคฝีดาษทั่วโลกภายหลังโรคนี้ถูกกำจัดจนหมดสิ้น ภาวะแทรกซ้อนของโรคฝีดาษวานร ได้แก่ ภาวะติดเชื้อทุติยภูมิ, โรคปอดบวมร่วมกับหลอดลมอักเสบ, ติดเชื้อในกระแสเลือด, โรคไข้สมองอักเสบ และภาวะกระจกตาติดเชื้อที่ทำให้สูญเสียการมองเห็น ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับภาวะติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ ในอดีต อัตราการป่วยตายของโรคฝีดาษวานรอยู่ที่ร้อยละ 0-11 ในประชากรทั่วไปและอัตรานี้สูงขึ้นในกลุ่มเด็กเล็ก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อัตราการป่วยตายอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-6

การป้องกัน การเพิ่มการรับรู้ปัจจัยเสี่ยงและการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับมาตรการที่ใช้ลดความเสี่ยงได้รับเชื้อไวรัสเป็นกลยุทธ์หลักในการป้องกันโรคฝีดาษวานร ขณะนี้มีโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อประเมินความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันและควบคุมโรคฝีดาษวานร บางประเทศได้กำหนดหรือกำลังจัดทำนโยบายแจกจ่ายวัคซีนให้บุคคลที่อาจตกอยู่ในความเสี่ยง เช่น บุคลากรห้องปฏิบัติการ ทีมสอบสวนและควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็ว และบุคลากรสาธารณสุข รักษาอย่างไร ขณะนี้ไม่มีวิธีรักษาฝีดาษลิง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อ การรับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ได้ผล 85% ในการป้องกันฝีดาษลิง และบางครั้งก็ยังคงมีการใช้วัคซีนนี้อยู่ มีรายงานว่า สเปนกำลังเตรียมสั่งซื้อวัคซีนโรคฝีดาษหลายพันโดสเพื่อป้องกันโรคฝีดาษลิง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การได้รับวัคซีนหลังสัมผัสกับเชื้อโรคฝีดาษลิง อาจช่วยป้องกันโรคนี้ได้ หรืออาจทำให้มีความรุนแรงของโรคลดลง

รักษาอย่างไร ขณะนี้ไม่มีวิธีรักษาฝีดาษลิง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อ การรับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษในคน ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ได้ผล 85% ในการป้องกันฝีดาษลิง และบางครั้งก็ยังคงมีการใช้วัคซีนนี้อยู่ มีรายงานว่า สเปนกำลังเตรียมสั่งซื้อวัคซีนโรคฝีดาษหลายพันโดสเพื่อป้องกันโรคฝีดาษลิง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การได้รับวัคซีนหลังสัมผัสกับเชื้อโรคฝีดาษลิง อาจช่วยป้องกันโรคนี้ได้ หรืออาจทำให้มีความรุนแรงของโรคลดลง

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

อายุรกรรม

นัดหมายแพทย์

ติดต่อสอบถาม


แพ็กเกจคลอดคุณภาพ