บริการ 10 คู่สายอัตโนมัติ

042 870 000 บริการ 10 คู่สายอัตโนมัติ

บทความเพื่อสุขภาพ

โรคปอดบวม

1/24/18, 10:27 AM

ปอดบวมหรือปอดอักเสบ เป็นโรคที่มีการติดเชื้อหรืออักเสบของปอด เกิดได้จากการติดเชื้อโรคต่างๆ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา หรืออาจ เกิดจากการได้รับสารเคมี เป็นต้น โรคนี้พบได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะจะพบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ (โดยเฉพาะจากเชื้อแบคทีเรีย) โดยสามารถติดต่อได้จากการหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไป เช่น เชื้อแพร่กระจายออกมาเวลาไอ จาม ของผู้ป่วย บางรายอาจได้จากการกินน้ำแก้วเดียวกันหรือใช้ผ้าเช็ดหน้าร่วมกัน หลังจากได้รับเชื้ออาจจะเกิดอาการใน 1-3 วัน มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากสารเคมี แอมโมเนีย ไนโตรเจน ไดออกไซด์ ฯลฯ

อาการของโรคปอดบวม

  • ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการน้ำมูกไหล จาม คัดจมูกนำมาก่อน

  • บางรายอาจจะเริ่มด้วยไข้สูง หนาวสั่น

  • หายใจหอบเหนื่อย

  • อาจจะมีอาการเจ็บหน้าอกตำแหน่งที่เจ็บมักตรงกับบริเวณที่อักเสบ

  • อาการไอ ในระยะแรกมีลักษณะไอแห้งๆ แต่ระยะต่อมาจะมีจำนวนเสมหะเพิ่มมากขึ้น เสมหะ เหนียว

การวินิจฉัยโรคปอดบวม

หากมีประวัติไข้สูง หนาวสั่น ไอมีเสมหะสีเหลือง หรือสีเขียว หายใจหอบ และแพทย์สงสัยว่าจะเป็นปอดบวม แพทย์ตรวจร่างกายและส่งตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการดังนี้

  • เจาะเลือดตรวจ CBC พบว่าเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น

  • ตรวจเสมหะโดยการย้อมสี และเพาะเชื้อ เพื่อหาสาเหตุของปอดบวม
  • นำเลือดไปเพาะเชื้อหาสาเหตุ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา 3-4 วันกว่าจะทราบผล

  • เอกซเรย์หน้าอก วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ระบุตำแหน่งของการติดเชื้อ

การรักษาโรคปอดบวม

ในเด็กส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสอาจจะไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ต้องกระตุ้นให้เด็กดื่มน้ำมากๆ วัดไข้วันละ 2 ครั้ง รับประทานยาตามแพทย์สั่งโดยเคร่งคัด ห้ามซื้อยาแก้ไอรับประทานเอง ให้คอยตรวจดูสีริมฝีปาก และเล็บว่ายังคงสีชมพูอยู่หรือไม่ หากมีสีคล้ำควรรีบพบแพทย์ หากเป็นเชื้อแบคทีเรีย หรืออาการเป็นมาก เช่น ไข้สูงมาก หอบมาก ไอมาก แพทย์จะให้นอนโรงพยาบาล และตรวจเลือดดังกล่าวข้างต้น และให้การรักษา คือ ให้ oxygen ,ให้ยาปฏิชีวนะ , ให้น้ำเกลือ

โรคแทรกซ้อน

  1. น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (pleural effusion) เกิดจากการอักเสบของเนื้อปอดลามออกมาถึงเยื่อหุ้มปอด จำนวนน้ำมีได้ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขนาดมาก ถ้ามีไม่มากก็อาจหายเองได้ ในรายที่มีจำนวนมากจนทำให้เกิดอาการหอบจะต้องทำการรักษาโดยการเจาะดูดเอาน้ำออก

  2. หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด (empyema )ภาพถ่ายรังสีเหมือนกับน้ำในช่องหุ้มปอดแต่จะมีไข้สูงและหอบเหนื่อย

  3. ปอดแตกและมีลมในช่องปอด (pneumothorax )มักเกิดจากการติดเชื้อที่รุนแรง ผู้ป่วยจะแน่นหน้าอกและหายใจหอบเหนื่อย

  4. เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ( pericarditis ) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ( meningitis )ปัจจุบันพบน้อย

  5. หัวใจวาย มักพบในรายที่มีโรคหัวใจอยู่ก่อน

การป้องกันโรคปอดบวม

  • ใช้วัคซีนสามารถป้องกันปอดบวมได้บางเชื้อ เช่น H.influenza, Pertussisไอกรน,ปอดบวม Pneumococcal

  • การฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

  • ให้หลีกเลี่ยงจากคนที่เป็นปอดบวม หรือ ที่แออัด

  • ที่ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อไม่ให้มีการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

กุมารเวชกรรม

นัดหมายแพทย์

ติดต่อสอบถาม